การดื้อยา โดยทั่วไป หมายถึงประสิทธิภาพของการใช้ยานั้นลดลง เช่น การดื้อยาปฏิชีวนะ กรณีของการดื้อยาลดน้ำหนัก ก็คือ การใช้ยานั้นๆ ไม่ได้ส่งผลให้น้ำหนักลดลงอีกต่อไป
สำหรับยารักษาโรคอ้วนในทางการแพทย์นั้น ยาจะออกฤทธิ์ เช่น ลดความอยากอาหารลง ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ช่วยลดการบีบตัวขับเคลื่อนของกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้รู้สึกอิ่มเป็นระยะเวลานานขึ้น ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การวินิจฉัยโดยดุลยพินิจของแพทย์
ดังนั้น การใช้ยาลดความอ้วน จึงทำให้พลังงานที่รับเข้ามา (Calorie In) จากการกินอาหาร น้อยกว่าพลังงานที่ใช้ออกไป (Calorie Out) จึงทำให้น้ำหนักลดลงได้ แต่ในคนบางกลุ่ม เมื่อได้รับยาแล้ว อาจไม่ได้ออกกำลังกายและควบคุมการรับประทานอาหารร่วมด้วย จึงทำให้น้ำหนักไม่ลด หรือลดลงไม่เท่าดังที่ตั้งใจ จึงคิดว่าเป็นการดื้อยา ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
แต่ความเป็นจริง การดื้อยาลดน้ำหนัก อาจเป็นผลมาจากยาลดน้ำหนัก ที่บุคคลหาซื้อมากินเอง หรือโดนหลอกขายอาหารเสริมให้เข้าใจผิด ว่ากินแล้วน้ำหนักจะลด แล้วทึกทักเอาเองว่าดื้อยา ตรงนี้เลยเป็นหลุมพรางทางการตลาด ของผู้ประกอบการอาหารเสริมลดน้ำหนักบางกลุ่ม ที่ใช้คำกล่าวอ้างในทางการตลาด เช่น สูตรลดน้ำหนัก สำหรับคนดื้อยา, เหมาะสำหรับคนดื้อยา ลดยาก
ในความเป็นจริงหากดื้อยาตามที่อธิบายมาแล้ว จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ ดังนั้น อาการที่น้ำหนักไม่ยอมลดลง จึงไม่ใช่การดื้อยา และต่อให้ซื้ออาหารเสริมพวกนี้มากิน ก็ไม่ได้ทำให้น้ำหนักลดได้จริง เช่น อาหารเสริมที่มีส่วนผสม ช่วยให้เกิดการระบาย หรืออาหารเสริมช่วยเผาผลาญ ก็ต้องรับประทานควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นต้น
นอกจากนี้ หากเจออาหารเสริมที่ลักลอบใส่ส่วนผสมต้องห้าม เช่น ไซบูทรามีน ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ทางจิตประสาท แต่ถูกนำไปใช้กับอาหารเสริมลดน้ำหนักตามที่ปรากฏเป็นข่าว และมีรายงานว่าเป็นอันตราย เช่น ทำให้ใจสั่น มีผลกระทบกับหลอดเลือด และระบบหัวใจ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยสรุป หากดื้อยาจริง จากการรักษาโดยแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยา หรือปรับพฤติกรรมเพิ่ม เช่น ออกกำลังกาย และคุมอาหาร อาหารเสริมใดๆ ก็ตาม ไม่ช่วยแก้อาการดื้อยา และอาจเกิดผลร้ายหากมีส่วนผสมต้องห้าม หรือส่งผลให้ระบบเผาผลาญพัง และแทนที่น้ำหนักจะลด แต่อาจกลับมาเพิ่มขึ้น ตามที่เรียกว่าภาวะโยโย่เอฟเฟค ก็เป็นได้